About TKK
Industrial Goods
Solutions
Quotation
Shop Industrial Products
News
Work with us
Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.
Contact Us
News

TKK ร่วมสร้างสมดุลการใช้เทคโนโลยีแต่พอดี เดินหน้าโครงการ ‘Inpsych’ ใช้นิทาน 2 ภาษา “คิตตี้และหนูแสนเศร้า” ติดอาวุธให้เด็กไทยห่างไกลภาวะซึมเศร้า

จากบทความที่ ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ rama.mahidol.ac.th ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “การเสพติดสื่อสังคมออนไลน์” มีผลทำให้เสี่ยงต่อ “ภาวะซึมเศร้า” ได้ โดยระบุว่าพฤติกรรมเสี่ยงที่ว่านี้ก็เช่นการใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์นานกว่าที่ตั้งใจไว้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรือใช้เวลาจนส่งผลกระต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ตลอดจนใช้สื่อสังคมออนไลน์จนไม่ได้ทำกิจกรรมและงานอดิเรกอื่น

โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เสพติดสื่อสังคมออนไลน์เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ก็เพราะการใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์มากเกินพอดี ทำให้เปรียบเทียบตนเองกับข้อมูลที่ผู้อื่นโพสต์โดยไม่รู้ตัว เช่น รูปร่าง ฐานะ ความเป็นอยู่ เป็นต้น ขณะที่หลายคนก็ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์นี้ในการโพสต์เพื่อจัดการอารมณ์ทางลบต่างๆ เช่น เศร้า โกรธ เบื่อ หรือเหงา หรือใช้เพื่อรังแกหรือต่อว่าผู้อื่นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการสร้างความรู้สึกด้านลบให้กับตนเองและยังส่งต่อไปที่ผู้อื่นทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ

จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนี้เอง ที่ทำให้หลายฝ่ายได้หันมาให้ความสำคัญกับการติดอาวุธทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้เยาวชน ซึ่งนับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจยังไม่รู้เท่าทันกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเสพสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป โดยที่ผ่านมามีการใช้เครื่องมือหรือโครงการต่างๆ มากมายที่ทำขึ้นด้วยจุดประสงค์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยห่างไกลจากภัยคุกคามในยุคดิจิทัลนี้

สำหรับ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทสัญชาติไทย ผู้นำเสนอโซลูชั่นและเทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัยให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ก็ได้ตระหนักถึงเหรียญอีกด้านของเทคโนโลยีอันทันสมัยที่เราใช้กันในยุคดิจิทัล ที่เมื่อมีข้อดี ก็มีข้อเสียเช่นกันถ้าเราใช้ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการเสพสื่อออนไลน์เกินความจำเป็น ทีเคเค จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เด็กไทยเสพสื่อสังคมออนไลน์แต่พอดี ด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้พวกเขาได้รู้เท่าทันสภาวะจิตใจของตนเอง โดยทาง ทีเคเค เลือกที่จะใช้ “นิทาน 2 ภาษา” ที่บอกเล่าด้วยเนื้อหาที่เข้าใจง่ายเรื่อง “คิตตี้และหนูแสนเศร้า” Kitty and the Gloomy Mouse ที่แต่งโดย ภรภัทร คงสมจิตร หรือ น้องพั้นซ์ เป็นสื่อในการเรียนรู้ให้เด็กไทยมีความเข้าใจในการเกิด “ภาวะซึมเศร้า” ที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือการเสพสื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อโซเชียลมากเกินไป

TKK แจงที่มาของแคมเปญ Inpsych ชวนเด็กไทยมาสำรวจใจของตัวเอง พร้อมติดตั้งอาวุธสำคัญไว้ต่อกรกับภาวะซึมเศร้า

“ในฐานะที่เราเป็นบริษัทที่นำเสนอโซลูชั่นเทคโนโลยีการผลิตเพื่ออุตสาหกรรม 4.0 หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แน่นอนว่าเราเห็นถึงข้อดีของการปรับเอาเทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะมาใช้ และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเยาวชนและเด็กรุ่นใหม่ควรเรียนรู้และมีทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัลติดตัวเพื่อนำไปสู่การศึกษาต่อและการทำงานในสายเทคโนโลยีในอนาคต”

“ทว่าก็ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในรูปแบบของ Digital Disruption นี้เอง ที่ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ทันตั้งตัว และใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตมากจนเกินพอดี จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจแบบที่พวกเขาไม่รู้ตัว”

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด

“จากแนวคิดที่สื่อสารถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับเยาวชนในสังคมไทยที่ กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้กล่าวมาข้างต้นนี้เอง ที่นำมาสู่การจัดโครงการ Inpsych เพื่อนำ “นิทาน 2 ภาษา” เรื่อง “คิตตี้และหนูแสนเศร้า” Kitty and the Gloomy Mouse ไปขยายผลและเผยแพร่เป็นสื่อที่ใช้ในการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็กไทยมีความเข้าใจในสาเหตุของการเกิด “ภาวะซึมเศร้า” ที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเสพสื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อโซเชียลมากเกินไป”

“ทั้งนี้ “นิทาน 2 ภาษา” เรื่อง “คิตตี้และหนูแสนเศร้า” เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ได้รับการตีพิมพ์และวางจำหน่ายใน amazon.com โดย น้องพั้นซ์ ที่เป็นผู้แต่งก็มีความตั้งใจในการที่จะเผยแพร่นิทานเรื่องนี้ไปในวงกว้าง เพื่อสร้างความเข้าใจและการรู้เท่าทันในเรื่องของภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าในเด็กและเยาวชน รู้จักการเสพสื่อสังคมออนไลน์อย่างพอดีและเหมาะสม ซึ่งจะนำสู่การป้องกันและการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยห่างไกลจากการเป็นโรคนี้ได้ ซึ่งความตั้งใจนี้ก็สอดคล้องกับแนวทางที่ ทีเคเค ยึดมั่น ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คู่ขนานไปกับการดูแลสังคมไทยในทุกมิติ”

“โดยที่ผ่านมา ทีเคเค มีโครงการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการศึกษาไทย ทั้งในรูปแบบของการมอบเครื่องไม้เครื่องมือ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกาและมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วไทย เพื่อให้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนนักเรียน นักศึกษา เปิดโอกาสให้เขาได้ศึกษาเรียนรู้กับเครื่องมือทันสมัยที่ใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม และ ทีเคเค ยังเป็นผู้ริเริ่มการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ Innovedex ที่เป็นรายการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศ และยังเป็นเวทีสำคัญที่ให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายได้มาแข่งขันทักษะในด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วย”

“และในครั้งนี้ ทีเคเค ได้ดำเนินโครงการ Inpsych ด้วยการใช้ บ้าน วัด โรงเรียน หรือ “บวร” เป็นกลไกในการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าในโรงเรียน บวกกับความร่วมมือของบริษัทภาคเอกชนอย่าง ทีเคเค ที่ส่งพนักงานอาสาสมัครไปร่วมกันขับเคลื่อนให้โครงการดีๆนี้ไปถึงยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กเยาวชน เพราะเราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทุกฝ่ายจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้”

ภรภัทร คงสมจิตร หรือ น้องพั้นซ์

ที่มาและความตั้งใจของ “ภรภัทร คงสมจิตร” ผู้แต่ง นิทาน 2 ภาษา เรื่อง “คิตตี้และหนูแสนเศร้า”

แน่นอนว่าหนึ่งใน Key person หลักของโครงการ Inpsych นี้จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ภรภัทร คงสมจิตร หรือ น้องพั้นซ์ ที่ได้กล่าวถึงแนวคิดและที่มาของการแต่ง นิทาน 2 ภาษา เรื่อง “คิตตี้และหนูแสนเศร้า” ว่า

“ตอนนี้พั้นซ์เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียน Emma Willard School ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งแต่เรียนในชั้นมัธยมศึกษาที่นี่ ก็จะมีวิชารวมถึงกิจกรรมให้เราได้เลือกเข้าเรียนรู้เพิ่มเติมหรือร่วมกิจกรรมตามที่เราสนใจได้ และพั้นซ์ก็อยากลองแต่งนิทานและวาดภาพประกอบออกมาสักเล่มหนึ่ง จึงเอาไปปรึกษาคุณครูศิลปะ คุณครูสอนภาษาอังกฤษว่าต้องทำอย่างไร ถึงจะทำนิทานออกมาได้น่าสนใจ น่าอ่าน”

“แล้วพั้นซ์ก็ใช้เทคนิคของการ Illustration และเทคนิคตัดแปะ หรือ Collage เพื่อสร้างสรรค์ภาพประกอบนิทานเล่มนี้ขึ้นมา แล้วนิทานเล่มนี้ก็ได้รับรางวัลในระดับโรงเรียนในวิชา Signature โดยคุณครูได้คัดเลือกผลงานของพั้นช์ให้ได้รับรางวัลเพราะสามารถทำผลงานได้ดีและผลงานนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย”

ภรภัทร คงสมจิตร หรือ น้องพั้นซ์

“นอกจากนั้น แรงบันดาลใจในการแต่งนิทาน 2 ภาษา เรื่องนี้ ยังมาจากประสบการณ์ที่พั้นซ์ได้เป็น Leader ในโรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนจะคัดเลือกเด็กนักเรียนมาทั้งหมด 15 คน และพั้นซ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ได้มาเป็น Leader ช่วยดูแลเพื่อนๆ ให้มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งพั้นซ์ทำมาได้ 3 ปีแล้ว”

โดยที่ผ่านมา พั้นซ์ก็จะทำโปสเตอร์ให้ความรู้เรื่อง ความเครียด การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากความเครียด และเมื่อถึงวันที่ 1 มีนาคม ของทุกปี พั้นซ์ก็มักจะร่วมกับเพื่อนๆและจัดกิจกรรมงาน “วันตระหนักการทำร้ายตนเอง (Self-injury Awareness Day)” โดยเปิดให้นักเรียนทุกคนมาทำ Body Paint หรือทำกำไลในธีมที่สอดคล้องกับวัน Self-injury Awareness Day ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเข้าใจและ Awareness ให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพจิตใจของตัวเอง”

และจากการได้รับโอกาสเป็น Leader ในด้านที่เล่ามา ทำให้ได้รับรู้ว่าปัญหาเรื่องภาวะซึมเศร้ามีความสำคัญมาก และเราในฐานะ Leader ก็มีหน้าที่ช่วยเพื่อนในการให้คำปรึกษา และพาเขาเข้าขั้นตอนของการตรวจสอบสภาวะจิตใจ ว่าสิ่งที่เขาเป็นและรู้สึก มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเขาหรือไม่ ถ้าเราพบว่าสิ่งที่เขารู้สึกอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตใจในระยะยาว เราจะได้นำไปแจ้งครูที่เป็นนักจิตวิทยาของโรงเรียนและนำสู่ขั้นตอนของการให้คำแนะนำ คำปรึกษา เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยทางจิตใจนี้ได้ทัน

ภรภัทร คงสมจิตร หรือ น้องพั้นซ์

“จากการรับรู้เรื่องความน่ากลัวของโรคซึมเศร้า พั้นซ์เลยอยากทำนิทานขึ้นมา เพราะนิทานสามารถเป็นสื่อที่ให้ความรู้ในรูปแบบของ Story Telling ได้ และนิทานก็ไม่ได้เข้าถึงแค่กลุ่มเด็กได้เท่านั้น ผู้ปกครองก็สามารถอ่านนิทานเล่มนี้ให้ลูกฟัง และเรียนรู้เรื่องโรคซึมเศร้าไปกับลูกได้เช่นกัน และพั้นซ์ก็เลือกบอกเล่าผ่านสัตว์อย่าง แมว หนู กระต่าย เพราะเมื่อบอกเล่าด้วยสัตว์เหล่านี้ ผู้อ่านจะไม่เกิดความรู้สึกหรือความอยากตั้งคำถามและเอาไปเปรียบเทียบเหมือนกับการบอกเล่าด้วยตัวละครที่เป็นคน เนื่องจากในการบอกเล่าในเรื่องยากๆ ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ฟัง ในต่างประเทศก็มักจะใช้การบอกเล่าผ่านสัตว์ต่างๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น”

“โดยในวันนี้นิทานเล่มนี้ได้วางขายใน amazon.com แล้ว ขั้นต่อไปพั้นซ์ก็อยากเผยแพร่ให้นิทานเรื่องนี้เข้าถึงกลุ่มเด็กนักเรียนชาวไทยให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ พอพั้นซ์ปิดเทอม เดินทางกลับมาไทย ก็เลยอยากนำนิทานเล่มนี้มาเผยแพร่ให้กับเด็กในวัยก่อนที่พวกเขาจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นประมาณอายุ 9-12 ปี ให้มีความเข้าใจและรู้เท่าทันโรคซึมเศร้าผ่านการอ่านนิทาน “คิตตี้กับหนูแสนเศร้า” นี้”

พระมหาอดิศักดิ์ อภิปัญโญ เจ้าอาวาสวัดบรมสถล (วัดดอน สีลม)

ประสานความร่วมมือกับ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ส่งต่อ นิทาน 2 ภาษา “คิตตี้กับหนูแสนเศร้า” ติดตั้งอาวุธทางปัญญาให้เด็กไทย รู้ทันโรคซึมเศร้า

เพื่อส่งต่อ นิทาน 2 ภาษา “คิตตี้กับหนูแสนเศร้า” ที่แต่งขึ้นด้วยความตั้งใจของ ภรภัทร คงสมจิตร หรือ น้องพั้นซ์ ให้ไปถึงยังเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กไทยในต่างจังหวัดที่เรียนอยู่ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาได้เข้าถึงโอกาสการได้รับความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าที่ถูกต้อง เพื่อดูแลตนเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากโรคนี้ ทาง ทีเคเค จึงได้ประสานไปยัง พระมหาอดิศักดิ์ อภิปัญโญ เจ้าอาวาสวัดบรมสถล (วัดดอน สีลม) ซึ่งมีโรงเรียนที่อยู่ในเครือข่ายการพัฒนาของทางวัด อย่าง โรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ จ.สกลนคร และเดินทางลงพื้นที่เพื่อไปทำกิจกรรมกับน้องๆ นักเรียนและมอบนิทาน 2 ภาษา “คิตตี้กับหนูแสนเศร้า” ให้กับครูและนักเรียนใช้เป็นสื่อในการทำการเรียนการสอนต่อไป

โดยในโอกาสนี้ พระมหาอดิศักดิ์ อภิปัญโญ ได้กล่าวว่า “พระอาจารย์เองได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนถึงเปรียญธรรม 8 และเรียนถึงปริญญาตรีและปริญญาเอก มีความก้าวหน้าในการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา การเรียนรู้ จึงมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาไทย ตลอดจนมอบโอกาสทางการศึกษาให้ผู้แสวงหาโอกาสในทุกด้าน และในสังคมไทยเราก็มีความผูกพันกับในระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน ที่จุนเจือช่วยเหลือกัน ทำให้ที่ผ่านมา พระอาจารย์ก็ได้สนับสนุนและช่วยเหลือกับโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พระอาจารย์เคยเรียนอยู่ตั้งแต่เด็ก”

“ดังนั้นเมื่อได้ทราบถึงโครงการดีๆ ที่ทางบริษัท ทีเคเค อยากมาจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าผ่าน นิทาน 2 ภาษา จึงมีความยินดีที่จะประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ เพราะมองว่ากิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักเรียนที่นี่ โดยเฉพาะการมีส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพวกเขาให้สามารถรับมือกับความเครียดหรือความทุกข์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และอาจทำให้เขาไปแสดงออกหรือหลงผิดไปในทางที่ไม่ดี เสียอนาคต ดังนั้นกิจกรรมนี้จึงเป็นกิจกรรมที่ดีที่มีส่วนมาสร้างเกราะป้องกันทางจิตใจให้กับเด็กและเยาวชนที่นี่ได้เป็นอย่างดี”

คุณครูจินตนา หลานเศรษฐา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ

ด้าน คุณครูจินตนา หลานเศรษฐา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความประทับใจต่อกิจกรรมดีๆ ในครั้งนี้ว่า

“สำหรับ โรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนอยู่ทั้งหมด 120 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาถึงภาคบังคับในชั้น ม.3 และส่วนใหญ่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่นี่ก็จะยากจน ปัญหาในปัจจุบันที่เรามักพบเจอบ่อยๆ ในโรงเรียน คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กๆจากการถูกเพื่อนบูลลี่ในโรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนก็ใช้หลักการ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม โดยทางโรงเรียนมีครูแนะแนวที่คอยให้คำปรึกษานักเรียนในเรื่องนี้ และมีระบบดูแล ช่วยเหลือ นักเรียน จะมีการดูแลเด็กเป็นรายบุคคล โดยครูประจำชั้นจะได้ลงไปเยี่ยมเด็กที่บ้านและคัดกรองว่ามีเด็กคนไหนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสภาวะในครอบครัวหรือจากปัจจัยรอบด้าน ถ้าเด็กคนไหนมีความเสี่ยงก็จะกำชับให้ครูดูแลเป็นพิเศษ”

ภรภัทร คงสมจิตร หรือ น้องพั้นซ์

“ต้องยอมรับว่าในตอนนี้เด็กที่นี่ยังไม่ได้มีโอกาสที่จะเดินทางไปยังที่อื่นมากนัก จึงไม่ค่อยเปิดรับข้อมูลหรือความรู้ต่างๆ จากภายนอกว่าอะไรบ้างที่จะเป็นภัยต่อตัวเขา และทำให้เขามีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ดังนั้น การที่ ทีเคเค และน้องพั้นซ์ เดินทางมาที่นี่เพื่อจัดกิจกรรมให้ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของโรคซึมเศร้า และเผยแพร่ นิทาน 2 ภาษา เรื่อง คิตตี้กับหนูแสนเศร้า จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนที่นี่ได้มีความรู้และรู้เท่าทันโรคซึมเศร้า ทำให้เขาตระหนักถึงการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ รวมถึงพวกเขายังได้รู้วิธีการสังเกตตัวเองและคนรอบข้างว่ามีอาการเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหรือไม่อีกด้วย”

จากความสำเร็จของการจัดกิจกรรมให้ความรู้และเผยแพร่ นิทาน 2 ภาษา เรื่อง คิตตี้กับหนูแสนเศร้า ทาง ทีเคเค และน้องพั้นซ์ ยังได้ขยายผลกิจกรรมนี้ไปจัดที่โรงเรียนวัดดอน ที่กรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากครูและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานไปพร้อมกัน

Everything  For Your Industrial Need, All in One Place
สนใจโซลูชั่น

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง

News
May 13, 2025
บริษัททีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมจับมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมพัฒนาวิชาการและบริการด้านวิศวกรรม
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและบริการวิชาการ
อ่านเพิ่มเติม
News
May 13, 2025
บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เซ็นสัญญาความร่วมมือกับ Touché Solutions เจ้าของแพลตฟอร์มด้านโซลูชันหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
โดยเฉพาะ T-Skin โซลูชันความปลอดภัยอัจฉริยะ
อ่านเพิ่มเติม
News
May 13, 2025
Indtech Roadshow 2025 (ครั้งที่14)
ยกระดับอุตสาหกรรม! ปรับโฉมการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน พร้อมก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง!
อ่านเพิ่มเติม