About TKK
Industrial Goods
Solutions
Quotation
Shop Industrial Products
News
Work with us
Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.
Contact Us
ESG

มากกว่ารางวัลคือโอกาส…การแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2023 โดย ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น เวทีต่อยอดความฝันให้เด็กไทยก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในวงการหุ่นยนต์โลก

หากจะกล่าวถึงอีกหนึ่งบริษัท ที่เป็นต้นแบบของการใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ในการทำธุรกิจด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาสานต่อเป็นการสร้างโอกาสพัฒนาภาคการศึกษาไทย ให้บุคลากรในภาคการศึกษาตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ และสถาบันการศึกษาทุกระดับสามารถเข้าถึงทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงอุปกรณ์ที่นำไปใช้ในการเรียนการสอนที่ทันสมัย ชื่อของ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการศึกษาทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็น การเป็นผู้สนับสนุนและมอบอุปกรณ์ เครื่องมือทันสมัยไปยังสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับอุดมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา เพื่อให้ทางสถาบันใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการทำการเรียนการสอน หรือการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งพนักงานผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดอบรมให้ความรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับภาคการศึกษาไทย ตลอดจนมอบโอกาสให้กับนักศึกษาทั่วประเทศเข้ามาฝึกงานในภาคการผลิตของ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น และบริษัทในเครือ ซึ่งมีส่วนช่วยฝึกทักษะบุคลากรไทยให้ได้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมา ถ้านักศึกษาคนใดทำงานได้ผ่านเกณฑ์ของทางบริษัท ก็จะรับเข้าทำงานต่อทันทีหลังจากจบการศึกษา

มาในวันนี้ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ได้เดินหน้าภารกิจพัฒนาการศึกษาไทย ยกระดับทักษะหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เยาวชนไทย ด้วยการจัดโครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศ Innovedex 2023 ขึ้นอีกครั้ง ในระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2566 ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากจัดครั้งที่ 1 ในปี 2562 และต้องหยุดจัดไปเพราะวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

โดยงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความสามารถด้านนวัตกรรมของเยาวชนไทย ผ่านการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และการแข่งขันหุ่นยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการบุคลากรที่มีทักษะ ความสามารถ ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุค Industry 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด

จากปณิธานการทำธุรกิจคู่ขนานไปกับการพัฒนาด้านการศึกษา สู่การสานต่อจัดงาน Innovedex 2023 เพื่อส่งมอบโอกาสให้กับเยาวชนไทย

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผู้ริเริ่มแนวคิดการจัด โครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2023 ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดโครงการนี้ว่า

“จากประสบการณ์การทำธุรกิจในด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ผ่านมา เราพบว่า บุคลากรที่จบการศึกษามาเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในด้านนี้ยังมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ AI รวมถึง Coding มากนัก ยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวม ก็มีเสียงสะท้อนมาว่าบุคลากรหรือพนักงานที่รับข้าไปทำงาน ก็มีทักษะที่ไม่ตรงตามที่ต้องการ ไม่สามารถทำงานได้ทันที”

“ที่ผ่านมา ลูกค้าของทาง ทีเคเค ก็มาขอความช่วยเหลือให้ทางเราช่วยทำเทรนนิ่งหรือฝึกอบรมให้ จึงเกิดเป็นแนวคิดว่าเราควรหาไอเดียในการที่จะบริหารจัดการ ปูพื้นฐาน ความรู้ โดยเฉพาะทักษะในการเขียน coding ที่ต้องสอนกันตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษาให้กับเด็กไทยของเรา เพื่อให้เขาสามารถใช้ทักษะนี้ในการต่อยอดและพัฒนาศักยภาพไปสู่ทักษะดิจิทัลด้านอื่นในอนาคต”

“เมื่อได้แนวคิดนี้แล้ว จึงเป็นที่มาให้เราไปพูดคุยกับทางผู้บริหารสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งได้เป็นเจ้าภาพจัดโครงการดีๆ มากมายให้กับนักเรียน จึงเป็นที่มาให้เรามาร่วมกันจัดการอบรมการเขียน Coding ให้กับนักเรียนที่เป็นเยาวชนทั่วประเทศทั้งในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย รวมถึงการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ด้วย”

“โดยเราได้กำหนดเงื่อนไขในการแข่งขัน คือ นักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันนี้เป็นนักเรียนที่ควรได้รับโอกาสในการอบรมการเขียน Coding เพราะไม่เคยได้รับโอกาสนี้มาก่อน และเคยเข้าแข่งขันในรายการแข่งขันหุ่นยนต์มาก่อน จึงเป็นที่มาของโครงการแข่งขัน Innovedex ในปี 2562”

“Innovedex ที่เป็นชื่อของการจัดการอบรมและการแข่งขันหุ่นยนต์นี้ เป็นการรวมกันของคำพ้องเสียงจากคำว่า “นวัตกรรม” (Innovation) “การทดลอง” (Experimentation) และ “การศึกษา” (Education) ซึ่งสะท้อนถึงจุดเน้นของโครงการที่ต้องการส่งเสริมความสามารถด้านนวัตกรรมของเยาวชนไทย ผ่านการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการในด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยการส่งเสริมให้เด็กได้ลงมือทำ ได้ทดลองจริง กับอุปกรณ์ หุ่นยนต์จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการบุคลากรที่มีทักษะ ความสามารถ ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุค Industry 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม”

“ทั้งนี้ในการจัดการอบรมเรื่องการเขียน Coding ในปี 2562 เราพบว่าการจัดการสอนเพียง 6 ชั่วโมง นักเรียนทั้งในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย ที่ได้เข้าอบรม ก็จะมีทักษะในระดับที่นำไปปรับใช้ในการแข่งขันได้ ประกอบกับในช่วงปี 2562 ซึ่งเป็นการจัดในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด มีผู้เข้าสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ประมาณหนึ่งพันคน”

“จากการจัดการแข่งขันในครั้งแรก เราได้เห็นถึงความสามารถของไทย ที่สามารถเรียนรู้ และทำความเข้าใจ การเขียน Coding การบังคับหุ่นยนต์ ที่นำไปสู่การแข่งขันในวันถัดไปได้อย่างน่าพอใจ”

“ในช่วงปี 2563 – 2565 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด เราก็ประกาศรับสมัครโครงการนี้ไปแล้วในทุกปี โดยจะหาจังหวะจัดงานที่เหมาะสม ซึ่งปรากฎว่ามีน้องๆและโรงเรียนทั่วประเทศให้ความสนใจและมาสมัครเยอะมาก ได้รับการตอบรับดีมาก แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดที่มาเป็นระลอกๆ การจัดงานจึงไม่สะดวกมากนักเพราะมีกฎเกณฑ์ด้านของ Social Distancing และมีช่วงที่เราต้องล็อคดาวน์เป็นระยะ ทำให้การจัดการแข่งขันต้องเลื่อนไปเรื่อยๆ จนมาในปี 2566 หรือ 2023 ที่ทางคณะจัดงาน Innovedex ได้ตัดสินใจที่จะจัดงานการอบรมและการแข่งขันหุ่นยนต์นี้ขึ้นอีกครั้ง”

“โดยความพิเศษในปีนี้ นอกจากการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ในระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2566 แล้ว ก่อนหน้าการจัดงานนี้เรามีการจัดการอบรมทักษะจำเป็นให้กับน้องๆที่สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นเวลา 1 เดือน ผ่านหลักสูตรออนไลน์เพื่อสอนทักษะการเขียน Coding ให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ น้องๆต้องล็อคอินเข้าไปเรียนตามระยะเวลาที่ทางผู้จัดงาน Innovedex กำหนด ซึ่งเนื้อหาการเรียนการสอนจะได้รับการออกแบบมาโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของทีเคเค เมื่อเข้าร่วมครบตามเกณฑ์ ก็จะได้รับการยืนยันว่าผ่านการอบรมตามที่โครงการกำหนดไว้ โดยเราได้ส่งอุปกรณ์ หุ่นยนต์ ให้กับน้องๆผู้เข้าร่วมโครงการทางไปรษณีย์”

“ทั้งนี้ หลักสูตรออนไลน์ด้านการเรียนรู้ทักษะ Coding ที่ทางทีเคเคได้ออกแบบขึ้นมานี้ จะได้รับการขยายผลไปปรับใช้ให้กว้างขวางขึ้น ไม่ใช่แค่นักเรียนที่เข้าร่วม โครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex เท่านั้น ที่จะได้มาเรียนรู้ในหลักสูตรออนไลน์นี้ แต่หลักสูตรออนไลน์นี้จะถูกนำไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ของทางโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดกว้างให้เยาวชนไทยได้มาเรียนรู้ในทักษะนี้เพื่อต่อยอดไปพัฒนาตนเองในศักยภาพด้านดิจิทัลอื่นในอนาคตได้ด้วย”

“ทาง ทีเคเค คาดหวังให้ โครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex ได้รับการพัฒนาและต่อยอดไปเป็นโครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศ เพราะงานนี้ต้องบอกว่า เป็นงานที่ไม่มี Commercialize เลย แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ หมายถึง เราไม่ได้เปิดรับบริจาค นอกเหนือจากว่ามีผู้แสดงควาจำนงที่จะบริจาค ดังนั้นงานนี้จึงอยู่ในนิยามการจัดงานที่ตอบสนองแนวคิด ESG ที่เราตั้งใจจัดขึ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีคืนกลับให้กับสังคม”

“เพราะในการจัด โครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex นี้ ทาง ทีเคเค ได้เป็นผู้มอบอุปกรณ์และหุ่นยนต์ พร้อมสื่อการสอนออนไลน์ ตลอดจนการจัดให้มี staffs ซึ่งเป็นพนักงานของทีเคเค เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานนี้ขึ้น รวมเป็นมูลค่าตัวเงินกว่าห้าแสนบาท งานนี้จึงเป็นงานใหญ่ที่เราได้จัดร่วมกับพันธมิตรของเรา ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น”

“มาในวันนี้ เราเชื่อมั่นว่า การจัดโครงการดีๆนี้ขึ้นในปีต่อๆไป จะมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมสนับสนุนเยอะมากขึ้น แต่เราจะยังรักษาคอนเซปสำคัญของการจัดงาน คือ ไม่ต้องการให้การจัดโครงการ Innovedex นี้เป็นการจัดงานเชิงพาณิชย์ หรือ Commercialized เพราะเราอยากให้เป็นโครงการจัดการอบรมและการแข่งขันหุ่นยนต์ที่เป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาเยาวชนไทยเพื่อภาคการศึกษาไทยอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าในปีต่อๆไปจะมีนักเรียนและโรงเรียนที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

มากกว่ารางวัลคือโอกาสที่มอบให้กับเยาวชนไทยทั่วประเทศ ให้เข้าถึงเวทีแสดงความสามารถด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับประเทศ Innovedex 2023 อย่างเท่าเทียม

ดังที่ได้เกริ่นมาว่า โครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2023 เปิดกว้างให้กับน้องๆนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ ให้มีโอกาสได้เข้าร่วมแสดงความสามารถในเวทีระดับประเทศนี้อย่างเท่าเทียม ในปีนี้จึงมีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรมและการแข่งขันในครั้งนี้กันอย่างอบอุ่น แต่ด้วยเหตุผลที่ยังต้องคำนึงถึงเรื่อง Social Distancing เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดอยู่ จึงเปิดรับผู้เข้าแข่งขันทั้งในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย ทั้งหมด 49 ทีม

โดยใน 49 ทีมนั้น มีโรงเรียนจากต่างจังหวัดเข้าร่วมไม่น้อย เช่น โรงเรียนพระทองคำวิทยา จ.นครราชสีมา และ โรงเรียนเทพศิรินทร์พุแค จ.สระบุรี ซึ่งน้องๆ ผู้เข้าแข่งขันจากทั้ง 2 โรงเรียน ได้เปิดเผยถึงความรู้สึก ทั้งความประทับใจ ความท้าทายและโอกาสที่ได้รับจากการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ด้วย

เริ่มจาก น.ส.ดวงพร กรสำโรง, นายจักรภพ บุตรเคน, น.ส.ฐิติกาญจน์ เมนะรุจิ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพระทองคำวิทยา จ.นครราชสีมา ที่มาให้ความเห็นร่วมกันว่า

“ที่ผ่านมาเคยได้ไปแข่งเป็นโครงงานปัญญาประดิษฐ์หรือในรูปแบบ Hackathon ที่ในการแข่งขันครั้งนั้นได้รับรางวัลเหรียญเงินกลับมา แต่การแข่งขันที่ในรูปแบบของการแข่งขันหุ่นยนต์เพิ่งมาแข่งขันในงานนี้เป็นงานแรก ซึ่งมีความท้าทายมาตรงงที่เราต้องมาเขียนโปรแกรมใหม่ จากเดิมที่เขียนเป็น JavaScript แต่ในการแข่งขันครั้งนี้ต้องเปลี่ยนมาเขียนเป็น Python และเราต้องคิดด้วยว่าโปรแกรมที่เราเขียนขึ้นจะออกแบบอย่างไร แขนกลต้องออกแบบอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพการหยิบจับที่ดีที่สุด และยังมีเรื่องเวลาที่กดดันเราด้วย”

“จากการแข่งขันเมื่อวานและวันนี้ช่วงเช้า ผลงานที่ได้ก็พอใจระดับหนึ่งแต่มองว่าในรอบบ่ายจะพัฒนาและสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีก ประสบการณ์ที่ได้ในการแข่งขันวันนี้ก็สามารถนำไปปรับใช้ต่อยอดได้ เพราะเมื่อเรียนจบแล้ว พวกเราก็อยากจะเรียนต่อในสาขานวัตกรรมการผลิตขั้นสูง ที่ สจล. วิศวคอมพิวเตอร์ ม.ขอนแก่น และสาขาที่เกี่ยวข้องในด้านระบบการผลิตและหุ่นยนต์ แต่ถึงจะไม่ได้เรียนตรงสายอย่างที่คิดไว้ ก็เชื่อว่าทักษะด้าน AI หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติก็สามารถนำไปปรับใช้ในหลากหลายสาขาที่เรียนมาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เช่นกัน”

“การได้มาแข่งขันในเวทีแบบนี้ พวกเรามองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ตนเองได้เจอเพื่อนจากต่างโรงเรียน และได้เรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าใหม่ๆ อีกด้วย”

ด้าน ดช.ธีรเดช พันธ์นิยม, ดช.ธีรนัย บุญธรรม, ดช.ธนวัฒน์ พาชีชีพ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทพศิรินทร์พุแค จ.สระบุรี ได้กล่าวถึงความรู้สึกว่า

“พวกผมมองว่าการแข่งขันครั้งนี้มีความท้าทายมากตรงที่เป็นการแข่งขันระดับประเทศ และการเขียนโค้ดดิ้งเพื่อควบคุมหุ่นยนต์ให้หยิบจับของให้ได้ตามที่กำหนดไว้ เพราะในการเขียนโค้ดต้องกำหนดค่า ทำ GUI ขึ้นมาเลย และในการบังคับ ก็ต้องบังคับแบบ Manual มีการปรับ scale ให้คีบบล็อคขึ้นมาอย่างไร ตั้งค่าการเปิด ปิด อย่างไร ซึ่งถ้าทำกระบวนการนี้พลาดนิดเดียว Mission ในการเอาชนะโจทย์ที่ตั้งไว้ย่อมทำไม่ได้”

“และสิ่งที่ทำให้ชอบในเรื่องของการเขียนโค้ด คือ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.1 ก็มีทางทีมจัดงาน Innovadex มาสอนเรื่องการเขียนโคดดิ้ง ทำให้พวกผมได้เรียนรู้และชอบมาจนถึงวันนี้ ซึ่งช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ก็เรียนรู้และฝึกทักษะด้านนี้มาตลอดจนได้มาแข่งขันในวันนี้”

นอกจากนั้นยังมีทีมผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งเป็นทีมหญิงล้วนจาก โรงเรียนราชินี กรุงเทพมหานคร ได้แก่ น.ส.วรัตตรา วิภูศิริคุปต์, น.ส.ปริญา บุญสิงมา, น.ส.ภัควลัญพญ์ หาญพงษ์ธรรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนราชินี ได้มาบอกเล่าถึงความสนุกและท้าทายที่ได้รับจากการเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex ครั้งนี้ว่า

“พวกเราเคยแข่งขันมาในรูปแบบของการประกวดโครงงานระดับโรงเรียน ซึ่งการเข้าร่วมการแข่งขัน Innovedex นี้ทำให้เราได้ฝึกทักษะของการทำงานเป็นทีม และเป็นการฝึกทักษะความแม่นยำในการเขียนโค้ดดิ้งและการบังคับหุ่นยนต์ให้สามารถคีบสิ่งของได้ตามจุดที่กำหนด โดยทางทีมของเราได้ออกแบบที่คีบให้มีความกว้างมากขึ้นเพื่อมีองศาในการคีบบล็อคแต่ละอันได้ง่ายขึ้น และเราพบว่าถ้าเป็นที่คีบธรรมดาจะมีความลื่น เราเลยใช้ปืนกาวหยอดกาวลงไปเพื่อให้มีความหนืดมากขึ้น ไม่ลื่นหลุดง่าย”

“และด้วยที่โรงเรียนมีแผนการเรียนเป็นวิทย์-คณิต เอไอ ซึ่งพวกเรามีความชอบส่วนตัวและเมื่อเรียนจบก็อยากสอบเข้าศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่แล้ว นอกจากนั้น ยังมองว่า การสร้างหรือบังคับหุ่นยนต์เป็นเรื่องที่ท้าทาย ไม่ได้มองว่าทักษะนี้เป็นทักษะที่เป็นทักษะของผู้ชายเลย มองว่าสนุกและท้าทายน่าเรียนรู้มากกว่า และการได้มาแข่งขันในรายการนี้ก็ทำให้ได้รู้ด้วยว่าทีมอื่นก็เก่งและมีทักษะที่น่าทึ่งมาก เป็นตัวกระตุ้นให้เรายิ่งอยากพัฒนาทักษะของเราให้เก่งยิ่งขึ้นด้วย”

ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)

ตอกย้ำคุณภาพ Innovedex 2023 เวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ ที่สร้างทักษะในโลกการทำงานจริงให้กับเยาวชนไทย

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่มาร่วมเป็นผู้สนับสนุนในการจัดงาน Innovedex 2023 ในปีนี้ โดย ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า

“สำหรับโครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex เราได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับทีมผู้ชะการแข่งขันรายการนี้ ทั้งทีมผู้ชนะอันดับ 1 อันดับ 2 และอันดับ 3 อีกสองทีม โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังได้รับรางวัลทุนการศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ 100 % จำนวน 1 ทุน (มูลค่า 502,500 บาท) และทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 อีกสองรางวัล ยังได้รับทุนการศึกษา 50 % ในหลักสูตรเดียวกันนี้ อีกทีมละ 1 ทุน (มูลค่า 251,250 บาท) ด้วย นอกจากนั้น ในส่วนของการอบรม ทางผมเองก็จะเป็นอาจารย์ผู้มาบรรยายอัปเดตเรื่องของ AI ให้น้องๆ ก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขัน”

พร้อมกันนี้ ดร.ธันยวัต ยังชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นของการจัดการอบรมและการแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2023 ครั้งนี้ว่า

“การแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex มีความแตกต่างจากการแข่งขันหุ่นยนต์อื่น เพราะโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขัน คือ การจำลองการทำงานของหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริงมาเป็นโจทย์ในการแข่งขัน ดังนั้นนักเรียนก็จะได้เรียนรู้ว่า หุ่นยนต์จริง ใช้ในการทำอะไร อย่างหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป ก็จะขายกันแต่ตัวแขนไม่มีในส่วนของมือจับ โดยมือจับจะต้องออกแบบเอง นี่จึงใกล้เคียงกับโจทย์ของที่นี่มาก คือทางทีมผู้จัดงานจะมอบหุ่นยนต์ให้น้องๆ ไป แต่ตัวจับ เป็นส่วนที่น้องๆ ต้องออกแบบเองให้เหมาะกับการหยิบจับสิ่งของที่กำหนดเพื่อทำงานได้อย่างรวดเร็ว

โดยความท้าทายในการแข่งขันนี้ คือ ผู้เข้าร่วมแข่งขัน ทั้งในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย ต้องออกแบบ Interface เอง ดังนั้นน้องๆ ต้องมีความสามารถด้านซอฟแวร์ ที่ต้องออกแบบ UI เป็นหน้าตาที่อยู่บนคอมพิวเตอร์ว่าจะใช้งานอย่างไร ทำอย่างไรให้ใช้ง่าย โดยมีโจทย์และกำหนดคะแนนให้ด้วย และยังต้องออกแบบหุ่นยนต์ให้ทำงานตามคำสั่งด้วย

“ทั้งนี้ การจัดโครงการอบรมและการแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex นี้ เป็นการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศ คือ Thailand 4.0 และการพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่ง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ก็เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่เป็น S curve ของประเทศ และต้องขอชื่นชม บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งตั้งใจจัดงานนี้ขึ้น โดยทางบริษัทก็จัดงานนี้ขึ้นโดยไม่มีผลประโยชน์ทางด้านการตลาด หรือ Commercial ใดๆ เลย เป็นการทำเพื่อพัฒนาภาคการศึกษาไทยจริงๆ”

Everything  For Your Industrial Need, All in One Place
สนใจโซลูชั่น

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง

ESG
May 18, 2021
TKK มอบ ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UV-C’ ฝีมือคนไทย ปฏิบัติการใน รพ.สนาม ลดความเสี่ยงให้บุคลากรการแพทย์อย่างได้ผล
TKK Corporation ได้มอบ ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UV-C’ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ใน รพ.สนาม อย่างได้ผล
อ่านเพิ่มเติม